มลพิษทางอากาศ (Air Pollution)

215701 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 
 
มลพิษทางอากาศ คือ อะไรกันนะ เคยได้ยินมานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร แต่ขึ้นชื่อว่าเป็น มลพิษ มั่นใจได้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอนจริงไหมคะ?

มลพิษทางอากาศ หมายถึงภาวะอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติ ทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่าง ๆ เมื่อสะสมเป็นเวลานานพอ ส่วน สารเจือปน หมายถึง สารมลพิษอันประกอบไปด้วย ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(Sulfur Dioxide) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน(Oxide of Nitrogen) ก๊าซโอโซน(Ozone) สารประกอบไฮโดรคาร์บอน(Hydrogen compound) สารตะกั่ว(Lead) ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน(PM10) และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน(PM2.5)
 
ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าวิตก แต่ขาดการตะหนักถึงความสำคัญจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พื้นที่ริมถนนที่มีการจราจรหนาแน่น จากการตรวจวัดพบปริมาณฝุ่นควัน และก๊าซมลพิษมีค่าเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะก๊าซโอโซนและคาร์บอนมอนอกไซด์หรือบริเวณใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสาเหตุมาจากการเพิ่มจำนวนของรถยนต์และยานพาหนะต่างๆ อย่างรวดเร็ว ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินมาตรฐานจัดได้ว่าเป็นปัญหาหลักและรุนแรงที่สุด นอกจากนี้ปริมาณก๊าซโอโซนและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ิเกินมาตรฐานบริเวณริมถนนก็ยังเป็นปัญหาสำคัญไม่แพ้กัน

นอกจากโรงงานอุตสาหกรรมจะการปล่อยอากาศเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วการเผาไร่นาและเผาป่ายังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญ ในเขตภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูงกว่าจังหวัดข้างเคียง เนื่องจากที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบแอ่งกระทะอากาศหมุนเวียนน้อย

มลพิษทางอากาศมีผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพโดยตรง ซึ่งอาจจะส่งผลทันทีหรือส่งผลในระยะยาวได้ เมื่อเราหายใจเอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ สารพิษจะแพร่กระจายจากปอดเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดเข้าขัดขวางการทำงานส่วนต่างๆของร่างกาย ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและโรคภัยต่างๆ และอาจจะ เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอดได้เลยนะคะ

มลพิษทางอากาศ นี่มันมาจากไหนกันนะ ไม่ใช่แค่จากรถยนต์อย่างเดียวแน่ๆใช่ไหม วันนี้เราได้รวบรวมเอาข้อมูลของแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศมาให้ได้ทำความรู้จักกันค่ะ เพื่อที่เราจะได้พยายามหลีกเลี่ยงมลภาวะที่เ็ป็นอันตรายต่อร่างกาย ให้ได้มากที่สุดนะคะ


สำหรับแหล่งกำเนิดของมลพิษ ทางอากาศออกได้เป็น 3 แหล่ง คือ มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น , ธรรมชาติ และจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ทั้งมนุษย์และธรรมชาติ โดยแต่ละแหล่งจะทำให้เกิดสารมลพิษที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะแตกต่างกันแบบไหนบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ

 

1. แหล่งกำเนิดจากฝีมือของมนุษย์ 

1.1 แหล่งกำเนิดที่เคลื่อนที่ได้
  • ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซล โดย รถยนต์เป็นแหล่งก่อปัญหาอากาศเสียมากที่สุด สารพิษสําคัญได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน และของกํามะถัน สารกลุ่มไฮโดรคาร์บอนนั้น ประมาณ 55 % ออกมาจากท่อไอเสีย 25 % ออกมาจากห้องเพลา ข้อเหวี่ยง และอีก 20 % เกิดจากการระเหยในคาร์บูเรเตอร์ และถังเชื้อเพลิง ออกไซด์ของไนโตรเจนคือ ไนตริกออกไซด์ (NO) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) เกือบทั้งหมดออกมาจากท่อไอเสีย ซึ่งพิษต่อมนุษย์โดยตรง

1.2 แหล่งกำเนิดที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
  • โรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ เขม่าควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าชไฮโดเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า กรดซัลฟูริกหรือกรดกำมะถัน ได้แก่ การแปรรูปอาหาร การกลั่นน้ำมัน การหลอมโลหะ โรงงานผลิตสารอนินทรีย์
  • โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์
  • การใช้เชื้อเพลิงภายในบ้าน เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้ในการประกอบกิจวัตรประจำวันเป็นประจำ ซึ่งมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อนำพลังงานความร้อนไปใช้ประโยชน์ต่างๆ
  • การเผาขยะมูลฝอย ก่อให้เกิดมลพิษต่างๆ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ และสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน



2. แหล่งกำเนิดจากธรรมชาติ

ธรรมชาติเป็นผู้สร้าง เป็นแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดสารมลพิษทางธรรมชาติ โดยไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์แต่อย่างใด
  • ภูเขาไฟ เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางธรรมชาติ มักจะปล่อยสารพิษ ได้แก่ ควัน หรือ แก๊ซต่างๆ เช่น SO2,H2S,CH4ฯลฯ
  • ไฟไหม้ป่า เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์  โดยเฉพาะในฤดูร้อนที่อากาศแห้งและ มีอุณหภูมิสูง สารมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ป่า ได้แก่ ฝุ่นควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 และก๊าซพิษต่างๆ เช่น CO,HC
  • การเน่าเปื่อยและการหมัก สารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ทำปฏิกริยาเคมีทำให้เกิดสารมลพิษขึ้นสู่บรรยากาศ ได้แก่ แอมโมเนีย
  • การฟุ้งกระจายของดิน เมล็ดพืช และเกสรต้นไม้ โดยมลพิษจะอยู่ในรูปอนุภาคของแข็ง เช่น ฝ่นละออง เปลือกของเมล็ดพืช หรือการฟุ้งกระจายของน้ำทะเลทำให้เกิดมลพิษในรูปของอนุภาคของเหลวปล่อยสู่บรรยากาศ



3. แหล่งกำเนิดอื่นๆ โดยเกิดจากการรวมตัวทางปฏิกิริยาเคมีจากแหล่งต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ หรือธรรมชาติโดยตรง เช่น ปฏิกิริยาโฟโตเคมิคอล (Photochemical reaction) เป็นปรากฏการณ์มลพิษทางอากาศ ที่เกิดขึ้นในขณะที่อากาศ มีปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ และ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ในปริมาณที่สูง ร่วมกับมีแสงแดดจ้า โดยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เมื่อถูกแสงแดดกระตุ้น จะเกิดการแตกตัวเป็น ออกซิเจนอะตอมเดี่ยว ซึ่งจะกลายเป็นก๊าซพิษในที่สุด หรือ Smog (หมอกควันมาจากการผสมคำว่า smoke + fogเข้าด้วยกัน)
เป็นยังไงกันบ้างคะ ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่า ถ้าพูดถึงมลพิษแล้วจะต้องนึกถึงฝีมือมนุษย์ แต่ในความเป็นจริง สามารถเกิดได้เองตามธรรมชาติด้วย รู้อย่างนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่เราควรเริ่มลงมือทำ นอกจากจะช่วยกันลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ก่อมลพิษ แล้ว เราต้องรู้จักการป้องกันตัวเราเองให้ปลอดภัยจากมลพิษที่เราสูดดม เข้าไปทุกวันด้วยค่ะ  โดยเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันที่ดี


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้