9616 จำนวนผู้เข้าชม |
วัณโรค คืออะไร ทำไม เราต้องรู้จัก ลองมาอ่านกันสักนิด แล้วเราจะรู้ว่า ทำไมเราต้องรู้จักเจ้าตัววัณโรคนี้ด้วย
นอกจากอุบัติเหตุ มะเร็ง โรคหัวใจ เจ้าวัณโรคถือเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดในปี 2559 ว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคทั่วโลก อยู่ประมาณ 20 ล้านคน และ ในกลุ่มนี้ มีถึง 1.8 ล้านคนที่เสียชีวิต และสำหรับประเทศไทย องค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยอยู่ 1 ใน 14 ประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง และมีปัญหาด้านการรักษา-ดื้อยา พบว่าในทุกปีมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่เกิดขึ้น ปีละ 120,000 คน อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เริ่มกังวลกันแล้วใช่ไหมคะ งั้นเรามาทำความรู้จักเจ้าวัณโรคกันแบบทุกซอกทุกมุมเลยค่ะ
วัณโรค (Tuberculosis)
เป็นเชื้อแบคทีเรียค่ะ มีชื่อจริงว่า Mycobacterium Tuberculosis เรียกสั้นๆว่า TB มีขนาดเล็กมาก โดยมีความยาว 1-3 ไมครอน และความกว้างเพียง 0.2-0.5 ไมครอน วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรง ติดต่อกันผ่านทางละอองเสมหะในอากาศจากการหายใจ ไอ จาม หรือ ติดต่อผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคโดยได้รับเชื้อผ่านเข้าไปทางระบบทางเดินหายใจ มาถึงตรงนี้ ชักแย่ละสิ เพราะ อากาศเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องหายใจกันทุกคน แล้วใครบ้างจะเป็นผู้โชคร้ายหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย
ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้วัณโรคจะติดต่อกันทางอากาศผ่านการหายใจ แต่ก็ไม่ได้ติดกันง่ายๆ นะคะ โดยคนที่มีโอกาสติดเชื้อวัณโรค ส่วนมากเป็นคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากโรคร้ายแรงที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว เช่น ติดเชื้อเอชไอวี คนที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน (ผู้ป่วยโรคมะเร็ง,ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์) หรือคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ อย่างเช่น มีโรคเบาหวาน ติดสุราเรื้อรัง ติดสารเสพติด หรือมีปัญหาด้านโภชนการ (ขาดสารอาหาร) บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค ไม่เพียงเท่านี้ เด็กและผู้สูงอายุ ยังเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจาก ทั้ง 2 วัยจะมีสุขภาพที่อ่อนแอกว่าวัยอื่น แต่ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ใช่ว่าจะไม่ติดเชื้อวัณโรค คือสามารถติดเชื้อได้แต่มีข้อได้เปรียบตรงที่ ติดเชื้อ(รับเชื้อ) มาแล้ว อาจจะไม่แสดงอาการ เพราะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายต้านเชื้อไว้อยู่ อ่านมาถึงต้องนี้ค่อยหายใจโล่งขึ้นหน่อยนะคะ
งั้นเรามาดูกันสิว่า อาการของผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไรกัน โรควัณโรคมีความซับซ้อนแตกต่างจะการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะไม่แสดงอาการ (Latent TB) กับระยะแสดงอาการ (Active TB) ไปทำความรู้จักแต่ละระยะกันเลยค่ะ
• ระยะไม่แสดงอาการ คือ เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อวัณโรคแล้วจะไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็น แต่เชื้อตัวนี้ยังคงแอบอยู่ในร่างกายเรา วันดีคืนร้ายร่างกายอ่อนแอ หรือมีตัวกระตุ้นอื่นจะทำให้เข้าสู่ระยะแสดงอาการได้
• ระยะแสดงอาการ คือ ผู้ป่วยได้รับเชื้อวัณโรค และเชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่างๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน
โรควัณโรค
ส่วนใหญ่จะแสดงอาการที่ปอด เรียกว่า วัณโรคปอด แต่ก็สามารถแสดงอาการที่อวัยวะอื่นๆได้ เช่น วัณเยื่อหุ้มสมอง กระดูก ต่อมน้ำเหลือง อาการที่พบได้บ่อยๆ คือ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด มีไข้ต่ำๆ เวลากลางคืน เหงื่อออกมากเวลากลางคืน เจ็บหน้าอกเวลาไอ-หายใจ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาการ นอกจากนี้อาการแสดงยังขึ้นกับตำแหน่งของการติดเชื้อด้วยเช่นกัน เช่น วัณโรคกระดูก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่นปวดหลัง หรือปวดข้อสะโพก หรือ วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ผู้ติดเชื้อจะคลำได้ก้อนตามตำแหน่งต่อมน้ำเหลือง โดยไม่มีอาการเจ็บปวด (ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น)
เราจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง