วัณโรค คืออะไร ทำไม เราต้องรู้จัก

9613 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วัณโรค คืออะไร ทำไม เราต้องรู้จัก ลองมาอ่านกันสักนิด แล้วเราจะรู้ว่า ทำไมเราต้องรู้จักเจ้าตัววัณโรคนี้ด้วย

นอกจากอุบัติเหตุ มะเร็ง โรคหัวใจ  เจ้าวัณโรคถือเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดในปี 2559 ว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคทั่วโลก อยู่ประมาณ 20 ล้านคน และ ในกลุ่มนี้ มีถึง 1.8 ล้านคนที่เสียชีวิต  และสำหรับประเทศไทย องค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยอยู่ 1 ใน 14 ประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง และมีปัญหาด้านการรักษา-ดื้อยา  พบว่าในทุกปีมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่เกิดขึ้น ปีละ 120,000 คน อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เริ่มกังวลกันแล้วใช่ไหมคะ งั้นเรามาทำความรู้จักเจ้าวัณโรคกันแบบทุกซอกทุกมุมเลยค่ะ

วัณโรค (Tuberculosis)

เป็นเชื้อแบคทีเรียค่ะ มีชื่อจริงว่า Mycobacterium Tuberculosis เรียกสั้นๆว่า TB มีขนาดเล็กมาก โดยมีความยาว 1-3 ไมครอน และความกว้างเพียง       0.2-0.5 ไมครอน วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรง ติดต่อกันผ่านทางละอองเสมหะในอากาศจากการหายใจ ไอ จาม หรือ ติดต่อผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคโดยได้รับเชื้อผ่านเข้าไปทางระบบทางเดินหายใจ มาถึงตรงนี้ ชักแย่ละสิ เพราะ อากาศเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องหายใจกันทุกคน  แล้วใครบ้างจะเป็นผู้โชคร้ายหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย

ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้วัณโรคจะติดต่อกันทางอากาศผ่านการหายใจ  แต่ก็ไม่ได้ติดกันง่ายๆ นะคะ โดยคนที่มีโอกาสติดเชื้อวัณโรค ส่วนมากเป็นคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากโรคร้ายแรงที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว เช่น ติดเชื้อเอชไอวี คนที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน (ผู้ป่วยโรคมะเร็ง,ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์) หรือคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ อย่างเช่น มีโรคเบาหวาน ติดสุราเรื้อรัง ติดสารเสพติด หรือมีปัญหาด้านโภชนการ (ขาดสารอาหาร) บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค ไม่เพียงเท่านี้ เด็กและผู้สูงอายุ ยังเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจาก ทั้ง 2 วัยจะมีสุขภาพที่อ่อนแอกว่าวัยอื่น  แต่ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ใช่ว่าจะไม่ติดเชื้อวัณโรค คือสามารถติดเชื้อได้แต่มีข้อได้เปรียบตรงที่ ติดเชื้อ(รับเชื้อ) มาแล้ว อาจจะไม่แสดงอาการ เพราะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายต้านเชื้อไว้อยู่  อ่านมาถึงต้องนี้ค่อยหายใจโล่งขึ้นหน่อยนะคะ

งั้นเรามาดูกันสิว่า อาการของผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไรกัน โรควัณโรคมีความซับซ้อนแตกต่างจะการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะไม่แสดงอาการ (Latent TB) กับระยะแสดงอาการ (Active TB) ไปทำความรู้จักแต่ละระยะกันเลยค่ะ

 ระยะไม่แสดงอาการ คือ เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อวัณโรคแล้วจะไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็น แต่เชื้อตัวนี้ยังคงแอบอยู่ในร่างกายเรา วันดีคืนร้ายร่างกายอ่อนแอ หรือมีตัวกระตุ้นอื่นจะทำให้เข้าสู่ระยะแสดงอาการได้

ระยะแสดงอาการ คือ ผู้ป่วยได้รับเชื้อวัณโรค และเชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่างๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

โรควัณโรค

ส่วนใหญ่จะแสดงอาการที่ปอด เรียกว่า วัณโรคปอด แต่ก็สามารถแสดงอาการที่อวัยวะอื่นๆได้ เช่น วัณเยื่อหุ้มสมอง กระดูก ต่อมน้ำเหลือง อาการที่พบได้บ่อยๆ คือ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด มีไข้ต่ำๆ เวลากลางคืน เหงื่อออกมากเวลากลางคืน เจ็บหน้าอกเวลาไอ-หายใจ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาการ นอกจากนี้อาการแสดงยังขึ้นกับตำแหน่งของการติดเชื้อด้วยเช่นกัน เช่น วัณโรคกระดูก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่นปวดหลัง หรือปวดข้อสะโพก หรือ วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ผู้ติดเชื้อจะคลำได้ก้อนตามตำแหน่งต่อมน้ำเหลือง โดยไม่มีอาการเจ็บปวด (ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น)

 

เราจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง

  • คนที่มีความเสี่ยงในการติดโรค ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด การสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้สวมหน้ากากปิดจมูกทุกครั้ง
  • ใช้หน้ากากที่สามารถป้องกันวัณโรคได้ (หน้ากากที่มีรูกรองขนาดเล็ก เช่น N95 ) หน้ากากทั่วไปไม่สามารถป้องกันเชื้อวัณโรคได้ค่ะ
  • รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น
  • หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นวัณโรค ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

ถ้าเราเป็นผู้ป่วยวัณโรคควรปฎิบัติอย่างไร
  • ผู้ป่วยในระยะแรก ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น ไม่ควรไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้สวมหน้ากากทุกครั้ง เพื่อป้องกันเสมหะแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น (อันนี้สำคัญมาก)
  • เนื่องจากวัณโรคเป็นเชื้อที่ดื้อยาได้ง่ายและใช้ระยะเวลาในการรักษานานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป จึงต้องมีวินัยในการรับประทานยา อย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลา ไม่ขาดยา
  • ไปพบแพทย์ตามนัด และปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้